รหัสแอลดีพีซี ได้ถูกใช้สำหรับการสื่อสาร Wi-Fi มาตรฐาน IEEE 802.11n แทนที่รหัสคอนโวลูชัน เนื่องด้วยประสิทธิภาพสูง และมีความเร็วในการถอดรหัสที่เร็วกว่า อัตรารหัส (R) ของรหัสแอลดีพีซีที่ถูกใช้สำหรับ IEEE 802.11n มีค่าดังตารางที่ 1
จาก ตารางที่ 1 พบว่ารหัสแอลดีพีซีสามารถรองรับการเข้ารหัสข้อมูลที่มีความยาว 3 แบบ ได้แก่ 1,944 1,296 และ 648 บิต โดยแต่ละความยาวสามารถเข้าด้วยอัตรารหัส 4 แบบได้แก่ R = 1/2 2/3 3/4 และ 5/6 ในการเข้ารหัสแอลดีพีซีนั้นเป็นแบบสมมาตรกล่าวคือ บิตข้อมูล และบิตพาริตี้ แยกกันอยู่อย่างชัดเจนเพื่อให้ง่ายแก่การถอดรหัสข้อมูล กำหนดให้ \(\displaystyle \mathbf{u}=\left[ {{{u}_{0}},{{u}_{1}},…,{{u}_{{k-1}}}} \right]\) ความยาวเท่ากับ \(\displaystyle k\) เมื่อถูกเข้ารหัสจะกลายเป็นคำรหัส \(\displaystyle \mathbf{c}=\left[ {{{u}_{0}},{{u}_{1}},…,{{u}_{{k-1}}},{{p}_{0}},{{p}_{1}},…,{{p}_{{n-k-1}}}} \right]\) โดยมีการเพิ่มบิตพาริตี้ \(\displaystyle \mathbf{p}\) ความยาว \(\displaystyle n-k\) โดยคำรหัสต้องเป็นไปตามข้อกำหนด \(\displaystyle \mathbf{c}\centerdot {{\mathbf{H}}^{\text{T}}}=0\) ซึ่ง \(\displaystyle \mathbf{H}\) คือเมทริกซ์พาริตี้เช็คที่เป็นตัวกำหนดคุณลักษณะของคำหรัสและการถอดรหัส
เมทริกซ์พาริตี้เช็ค \(\displaystyle \mathbf{H}\) สามารถแบ่งออกเป็นเมทริกซ์ย่อย (submatrix) ขนาด \(\displaystyle Z\times Z\) โดยที่เมทริกซ์ย่อยดังกล่าวมีลักษณะเป็นเมทริกซ์เอกลักษณ์ (identity matrix) ที่มีการเลื่อนลำดับ ดังแสดงในตัวอย่างรูปที่ 1 ด้วยขนาด \(\displaystyle Z=8\) เมทริกซ์ย่อย \(\displaystyle {{P}_{i}}\) เกิดจากการเลื่อนองค์ประกอบเลข 1 จากเมทริกซ์เอกลักษณ์ไปทางขวา \(\displaystyle i\) ตำแหน่ง ตัวอย่างเมทริกซ์พาริตี้เช็คที่ถูกใช้สำหรับมาตรฐาน IEEE802.11n สำหรับความยาว 648 1,296 และ 1,944 แสดงในรูปที่ 2 3 และ 4 ตามลำดับ (4 อัตรารหัส) โดยค่าองค์ประกอบภายใน \(\displaystyle {{P}_{i}}\) แสดงเป็นจำนวนการเลื่อนเมทริกซ์ย่อย \(\displaystyle {{P}_{i}}\) โดยบริเวณที่ไม่มีค่าแสดง (-) เป็นเมทริกซ์ย่อยที่เป็นเลข 0 ทั้งหมด