อุปกรณ์ที่รองรับมาตรฐาน IEEE 802.11 ต้องมีความสามารถในการรับส่งข้อมูลความเร็วขั้นต่ำ 1 และ 2 Mbps ด้วยอินฟราเรด หรือคลื่นวิทยุที่ความถี่ 2.4 GHz และมีกลไก WEP (Wired Equivalent Privacy) ซึ่งเป็นทางเลือกสำหรับสร้างความปลอดภัยให้กับเครือข่าย WLAN อย่างไรก็ตาม มาตรฐาน IEEE 802.11 ในเวอร์ชันแรกนั้นมีประสิทธิภาพค่อนข้างต่ำ อีกทั้งไม่มีการรองรับหลักการการจัดการบริหารแบนด์วิดธ์หรือช่องทางของระบบเครือข่าย (Quality of Service : QoS) นอกจากนี้ กลไกรักษาความปลอดภัยที่ใช้ยังมีช่องโหว่อยู่มาก ด้วยเหตุนี้องค์กร IEEE จึงได้จัดตั้งคณะทำงานขึ้นมาเพื่อทำการปรับปรุงมาตรฐานเพิ่มเติมให้มีศักยภาพสูงขึ้น หลังจากนั้นจึงถือกำเนิดเทคโนโลยี IEEE 802.11 ในเวอร์ชันพัฒนาหลายมาตรฐานที่เป็นที่รู้จักกันดังนี้
- มาตรฐาน IEEE 802.11a: ใช้สำหรับ Wireless Lan ที่มีความเร็วในการ รับ-ส่งข้อมูล 54 Mbps โดยทำงานที่ย่านความถี่ 5 GHz ความพิเศษของมาตรฐาน IEEE 802.11a นั้น สามารถปรับอัตราความเร็วในการรับ-ส่ง ข้อมูลได้ตามที่ต้องการ นอกจากนี้ สามารถใช้ในการรับ-ส่ง รูปภาพ วิดีโอ และข้อมูลที่มีความคมชัดสูงได้ มากกว่านั้นด้วยการใช้งานย่านความถี่ในระดับ 5 GHz จึงทำให้สามารถใช้งานได้โดยไม่มีคลื่นความถี่อื่นรบกวนมากนักซึ่งส่งผลให้สามารถ รับ-ส่ง ข้อมูลได้อย่างรวดเร็ว
- มาตรฐาน IEEE 802.11b: ทำงานบนย่านความถี่ที่ต่ำลง 2.4 GHz ซึ่งเป็นคลื่นความถี่ที่ใช้อย่างแพร่หลายในพื้นที่สาธารณะ โดยสามารถ รับ-ส่งข้อมูล ได้ที่ความเร็วประมาณ 11 Mbps หมายเหตุว่าย่านความถี่ดังกล่าวได้รับความนิยมและมีการใช้งานเป็นจำนวนมากในประเทศไทย โดยอุปกรณ์ที่สามารถทำงานกับคลื่นความถี่นี้ได้จะต้องผ่านการรับรองจากสถาบัน Wireless Alliance เพื่อให้มีมาตรฐานเดียวกันที่ยอมรับได้
- มาตรฐาน IEEE 802.11g: มาตรฐานนี้ได้รับการต่อยอดมาจากมาตรฐาน 802.11b ก่อนหน้า โดยเฉพาะเน้นไปที่การเพิ่มความเร็วในการรับ-ส่งข้อมูล ไปถึงระดับ 54 Mbps เทียบเท่ากับมาตรฐาน 802.11a อย่างไรก็ตาม มาตรฐานนี้ยังคงคลื่นความถี่อยู่ที่ 2.4 GHz (เท่ากับมาตรฐาน 802.11b) เช่นเดิม รวมทั้งยังเป็นคลื่นความถี่สาธารณะที่ใคร ๆ ก็สามารถใช้ได้โดยไม่จำเป็นต้องขออนุญาต อย่างไรก็ตามการใช้ย่านความถี่สาธารณะนี้อาจทำให้เกิดปัญหาได้ โดยเฉพาะการได้รับสัญญาณรบกวนจากอุปกรณ์ที่ใช้คลื่นความถี่เดียวกัน
- มาตรฐาน IEEE 802.11n: มาตรฐานชนิดนี้เป็นการใช้นวัตกรรมบางอย่างเข้ามาเพื่อเพิ่มความรวดเร็วในการรับ-ส่งข้อมูล เช่น เทคโนโลยี MIMO ซึ่งใช้ประโยชน์จากเสาสัญญาณจำนวนมากในการรับ-ส่งสัญญาณส่งผลให้สามารถรับ-ส่งข้อมูลได้ด้วยความเร็วสูงมาก อีกทั้งมาตรฐาน IEEE 802.11n เป็นมาตรฐานที่สามารถทำงานบนคลื่นความถี่แบบ Dual Band บนย่าน 2.4 GHz และ 5 GHzได้ นับว่าเป็นคลื่นความถี่ที่มีความทันสมัย ซึ่งสามารถส่งสัญญาณได้ในระยะทางที่ไกลมากยิ่งขึ้น ในความเร็วสูงสุดประมาณ 600 Mbps อย่างไรก็ตามปัจจุบัน IEEE ยังไม่ได้ประกาศใช้งานมาตรฐานดังกล่าวออกมาอย่างเป็นทางการ
- มาตรฐาน IEEE 802.11ac: มาตรฐานดังกล่าวเป็นส่วนที่พัฒนามาจากมาตรฐาน 802.11n เดิม โดยมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรับ-ส่งข้อมูลได้อย่างมีความรวดเร็วเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก อีกทั้งเนื่องจากสัญญาณมีความเสถียรและช่องสัญญาณกว้างมากขึ้น จึงทำให้สามารถส่งข้อมูลได้พร้อมกันหลายช่องทาง หมายเหตุว่า มาตรฐาน IEEE 802.11ac ใช้เทคโนโลยีในการเพิ่มการรวมช่องสัญญาณคลื่นความถี่ (Channel Bonding) เพื่อยกระดับแบนด์วิธให้กว้างมากขึ้นจนเข้าใกล้ความเร็วระดับใช้สาย ซึ่งส่งผลให้สามารถรับ-ส่งข้อมูลอย่างรวดเร็วมากยิ่งขึ้นสูงสุดถึง 1.3 Gbps
- มาตรฐาน IEEE 802.11ax: เป็นมาตรฐานการเชื่อมต่อไร้สายความเร็วสูงที่พัฒนามาจากมาตรฐาน IEEE 802.11ac ซึ่งทำงานบนพื้นฐานคลื่นความถี่ 2.4GHz และ 5GHz อย่างไรก็ตามมาตรฐานดังกล่าวได้รับการออกแบบช่องสัญญาณใหม่โดยอาศัยการซอยย่อยช่องสัญญาณและรับส่งข้อมูลแบบ (Orthogonal Frequency Division Access: OFDA) ส่งผลให้ส่งข้อมูลได้พร้อมกันในช่วงเวลาเดียวกัน ในช่วงเวลาเดียวกัน IEEE 802.11ax สามารถส่งข้อมูลออกไปพร้อมๆ กันได้หลาย Device จากผลการทดสอบของบริษัท Huawei ได้ผลว่า มาตรฐานดังกล่าวจะทำให้ความเร็วสูงกว่าเดิม 4 เท่า ความเร็วสูงสุดของแต่ละ Stream จะอยู่ที่ประมาณ 3.5 Gbps (867 Mbps สำหรับมาตรฐาน 802.11ac) เมื่อรวมกับฟีเจอร์ MIMO แบบ 4×4:4 จะได้ความเร็วรวมสูงสุดที่ประมาณ 14 Gbps ซึ่งหากโน๊ตบุ๊คหรือสมาร์ทโฟนของเรารองรับการรับส่งข้อมูล 2 – 3 Spatial Streams พร้อมกันแล้ว จะสามารถเชื่อมต่อสัญญาณได้ด้วยความเร็วสูงกว่า 1 GB ต่อวินาที